การจดทะเบียนร้านค้าทั้งแบบมีหน้าร้านและแบบไม่มีหน้าร้าน ต่างเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับเพื่อน ๆ ที่เปิดกิจการร้านค้า หรือธุรกิจของตัวเอง ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นการจดสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งใช้กับธุรกิจที่ทำตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนเพื่อน ๆ ที่เปิดร้านค้าออนไลน์ก็ต้องจดทะเบียนพาณิชย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยธุรกิจที่ต้องมีการจดทะเบียนการค้าจะมีอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร และต้องเตรียมเอกสารอย่างไร มาดูกันเลยดีกว่าค่า
จดทะเบียนการค้า คือ
การจดทะเบียนเพื่อแสดงถึงการประกอบการนั้น ๆ หรือที่เรียกว่าการจดทะเบียนพาณิชย์นั่นเอง เป็นการบ่งบอกว่ามีการจัดการประกอบการนั้นขึ้นมานั่นเอง
จดทะเบียนการค้า เพื่ออะไร
จดทะเบียนการค้านั้นทำเพื่อเป็นการเก็บสถิติ ตัวตน และสถานะของกิจการของการประกอบพาณิชยกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางราชการ
จดทะเบียนการค้า ที่ไหน
สำนักงานทะเบียนพาณิชย์กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดเฉพาะในท้องที่นอกเขตเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
จดทะเบียนการค้า ออนไลน์ ต่างกับ
จดทะเบียนพาณิชย์ปกติ อย่างไร?
- ทะเบียนพาณิชย์ เป็นการจดทะเบียนร้านค้าสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจค้าขายทุกประเภท และมีหน้าร้าน
- ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจออนไลน์มีร้านเป็นของตัวเอง
จดทะเบียนการค้า ใช้เอกสารอะไรบ้าง
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของกิจการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ (กรณีคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล) หรือผู้รับผิดชอบในการประกอบกิจการในประเทศ (กรณีนิติบุคคลต่างประเทศ)
2. สำเนาทะเบียนบ้านเจ้าของกิจการ และสำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งสำนักงาน
3. หนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากร 10 บาท (ถ้ามี)
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
5. กรณีเจ้าของกิจการมิได้เป็นเจ้าบ้าน ณ สถานประกอบการดังกล่าว แนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
5.1 หนังสือยินยอมจากเจ้าบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าบ้าน
5.2 กรณีเช่าสถานที่
5.2.1 ผู้ให้เช่าเป็นบุคคลธรรมดา
– สำเนาทะเบียนบ้านของบ้านที่ตั้งสถานที่ประกอบการ
– สำเนาสัญญาเช่า พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ให้เช่า (เจ้าบ้าน)
– เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์อาคารสถานที่ตั้งสำนักงาน
5.2.2. ผู้ให้เช่ามีสถานะเป็นบริษัท
– สำเนาสัญญาเช่า พร้อมลงลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท
5.2.3. กรณีการซื้ออาคารชุด/ห้องชุด
– สำเนาโฉนดที่ดิน/ห้องชุด
6. กรณีคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลให้แนบเอกสารของผู้เป็นหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือจดจัดตั้งคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านผู้เป็นหุ้นส่วน
ขั้นตอนจดทะเบียนการค้าที่สำนักงาน
- เตรียมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของธุรกิจ
- เตรียมแบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ แบบ ทพ.
- แผนที่แสดงสถานที่ตั้งของร้าน
- หากเป็นนิติบุคคลให้เตรียมหนังสือรับรองบริษัท
- เตรียมเงินจำนวน 50 บาทสำหรับจดทะเบียนการค้า
- หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือสัญญาเช่า (กรณีเจ้าของธุรกิจไม่ใช่เจ้าของสถานที่)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของกรรมสิทธิ์ (กรณีเจ้าของธุรกิจไม่ใช่เจ้าของสถานที่)
- สำเนาหนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองให้เป็นผู้จำหน่ายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ (สำหรับธุรกิจข้อ 6 ทะเบียนพาณิชย์)
- หลักฐานแสดงจำนวนเงินทุน ยกเว้นนิติบุคคล (สำหรับธุรกิจข้อ 8 ทะเบียนพาณิชย์)
ขั้นตอนจดทะเบียนพาณิชย์ ออนไลน์
กรณีที่เพื่อน ๆ เปิดเป็นร้านค้าออนไลน์ ไม่มีหน้าร้านก็สามารถทำการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน โดยมีขั้นตอนเพิ่มเติมจากการจดทะเบียนการค้า บุคคลธรรมดา
- เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.)
- ปรินต์หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ เอกสารเกี่ยวกับเว็บไซต์ เช่น วิธีการสั่งซื้อ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า
ค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนการค้า
- จดทะเบียนการค้าตั้งใหม่ 50 บาท
- จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ครั้งละ 20 บาท
- จดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจ 20 บาท
- ขอให้ออกใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ฉบับละ 30 บาท
- ขอตรวจเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจรายหนึ่ง ครั้งละ 20 บาท
- ขอให้เจ้าหน้าที่คัดสำเนาและรับรองสำเนาเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ฉบับละ 30 บาท (หนึ่งคำขอ คิดเป็น หนึ่งฉบับ)
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้หากสนใจเปิดร้านค้าออนไลน์ การจดทะเบียนร้านค้าปลีกเป็นเรื่องจำเป็นมาก ทาง PUNDAI ของเราพร้อมนำเสนอสาระดี ๆ ด้านการทำการตลาดออนไลน์ และให้ความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจ ที่สร้างความเชื่อมั่นและรายได้
เป็นอย่างไรกันบ้างคะเพื่อน ๆ การดำเนินเรื่องจดทะเบียนการค้าไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดเลยใช่ไหมคะ เมื่อทำการจดทะเบียนเรียบร้อย หน้าที่ต่อไปที่เพื่อน ๆ ต้องทำก็คือการยื่นเสียภาษีให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการดำเนินกิจการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ หากเพื่อน ๆ ว่าที่เจ้าของกิจการหรือคนที่เปิดกิจการอยู่แล้ว แต่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำธุรกิจ อยากพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้ยอดขายพุ่งอย่างยั่งยืน สามารถติดตามคอนเทนต์ดี ๆ เช่น ตั้งชื่อร้านให้รวย วิธีขายของออนไลน์ จาก PUNDAI ได้เลยค่ะ เราพร้อมเป็นแหล่งความรู้ที่คอยมอบสิ่งดี ๆ ให้กับเพื่อน ๆ อย่างต่อเนื่องค่ะ
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
การจดทะเบียนร้านค้าปลีก ใช้เวลากี่วัน
ตอบ การจดทะเบียนการค้า ผู้ประกอบการ ต้องขอจดทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับต้องแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจ กิจการ
การจดทะเบียนร้านค้าปลีก คืออะไร
เพื่อเป็นการแสดงว่ามีการประกอบกิจการนั้น ๆ ทั้งรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
ร้านไหนบ้างที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
– ธุรกิจเกี่ยวกับโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
– ธุรกิจขายสินค้าอย่างเดียวหรือหลายอย่างที่ขายได้ 20 บาทขึ้นไปต่อวัน หรือมีสต๊อกสินค้าไว้ขายรวมมูลค่าทั้งหมดเป็นเงิน 500 บาทขึ้นไป
– นายหน้าหรือตัวแทนขายที่ทำการเกี่ยวกับสินค้าอย่างเดียวหรือหลายอย่าง และสินค้านั้นมีมูลค่ารวมทั้งหมดเป็นเงิน 20 บาทขึ้นไปต่อวัน
– ธุรกิจหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ที่ขายสินค้าที่ผลิตได้ 20 บาทขึ้นไปต่อวัน หรือวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ผลิตรวมมูลค่าทั้งหมด 500 บาทขึ้นไป
– ธุรกิจขนส่งทางทะเล ขนส่งโดยเรือกลไฟหรือเรือยนต์ประจำทาง รถไฟ รถราง รถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับจำนำและการทำโรงแรม การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน
– ธุรกิจขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิตอลเฉพาะที่เกี่ยวกับบันเทิง
– ธุรกิจให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้อินเทอร์เน็ต
– ธุรกิจขายอัญมณี หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี
– ธุรกิจให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงคาราโอเกะ
– ธุรกิจให้บริการเครื่องเล่มเกม
– ธุรกิจให้บริการตู้เพลง
– ธุรกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลักและงานหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกและค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
– ร้านอาหาร ดังนั้นการ จดทะเบียนการค้า ร้านอาหารจึงเป็นเรื่องจำเป็น
ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
– ธุรกิจค้าเร่ แผงลอย ดังนั้นการจดทะเบียนการค้า แผงลอยจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น
– ธุรกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
– ธุรกิจของนิติบุคคลที่มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
– ธุรกิจของกระทรวง ทบวง กรม
– ธุรกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
– ธุรกิจที่กลุ่มเกษตรกร
– ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นตามที่รัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ยกเว้นนิติบุคคลในข้อ 6-12 ของธุรกิจที่บังคับให้จดทะเบียนพาณิชย์ และข้อ 1-4 ของธุรกิจที่บังคับให้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ยังคงต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อยู่